วันจันทร์, มีนาคม ๐๕, ๒๕๕๐

กล้วยไม้เผ่าย่อยหวาย


Dendrobium williamsonii Day & Rchb.f. (ท. เอื้องเงินแสด) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายน้ำส้ม

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้ประกอบด้วยกล้วยไม้เพียงสามสกุลคือ สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลเอื้องกระเจี้ยง (Epigeneium) และสกุลเอื้องขาไก่ (Flickingeria) แต่จำนวนชนิดที่มีมากที่สุดอยู่ในสกุลหวาย (Dendrobium) สกุลเอื้องกระเจี้ยง (Epigeneium) พบในประเทศไทยเพียง 3 ชนิด และสกุลเอื้องขาไก่ (Flickingeria) พบในประเทศไทย 16 ชนิด

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ขึ้นเป็นกอ มีเหง้าหรือลำกลมผอมและแข็ง แม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นตัวแทนของเผ่าย่อยนี้ แต่ลักษณะลำต้นของแต่ละสกุลในเผ่าย่อยนี้ต่างกันมาก สกุลเอื้องกระเจี้ยง (Epigeneium) มีเหง้าผอมกลมทอดยาว สลับกับหัวรูปไข่หรือรี มีใบ 1-2 ใบ ดูคล้ายกล้วยไม้ในเผ่าย่อยเอื้องเทียน ส่วนสกุลเอื้องขาไก่ (Flickingeria) มีเหง้าค่อนข้างสั้น หัีวหรือลำแตกออกจากส่วนเหง้า ลักษณะค่อนข้างยาว มีใบเพียง 1 ใบที่ปลาย มักมีดอกเดี่ยวหรือสองสามดอกที่ปลาย ส่วนสกุลหวาย (Dendrobium) มีลำลูกกล้วยรีหรือยาว บางชนิดเช่น Dendrobium lindleyi Steud. (ท. เอื้องผึ้ง) มีใบเพียงใบเดียวต่อลำหรือนานๆ ทีจะเห็นสองใบต่อคำ แต่ส่วนใหญ่มีใบจำนวนมาก เนื่องจากมีลำยาว ลักษณะร่วมกันในเผ่าย่อยนี้่เห็นได้ที่ลักษณะดอก ที่เส้าเกสรมีคางชัดเจน โคนกลีบเลี้ยงคู่ข้างแผ่กว้างติดกับส่วนคาง กลีบปากอาจมีหูหุ้มเส้าเกสร หรือแผ่กว้างผายออกจากโคน โดยไม่มีส่วนหูที่ชัดเจน เผ่าย่อยนี้กลุ่มเรณูไม่มีก้านหรือแป้นก้านเรณู ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับอีกหลายสกุลในกลุ่มย่อย Epidendroideae

กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นสกุลใหญ่มาก และมีความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิดอย่างมาก จึงจำเป็นต้องแบ่งย่อยเป็นอีกหลายกลุ่ม (section) ในการแบ่งนั้นเองยังมีหลายแบบ แล้วแต่ผู้แบ่งและการศึกษาด้วยวิธีต่างๆ การแบ่งกลุ่มแต่เดิมใช้ลักษณะภายนอก เช่น ลำต้น ใบ ดอก เป็นหลัก ซึ่งก็ใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หลังๆ นี้มีแนวโน้มจะใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและ DNA มาประกอบด้วย เนื่องจากในบางกลุ่มยังพบว่า แม้การผสมข้ามชนิดภายในกลุ่มก็ยังเป็นไปได้ยาก นั่นคือมมีความแตกต่างภายในกลุ่มมากเกินไป ทำให้คิดว่าน่าจะต้องแบ่งย่อยออกไปอีก เพื่อให้การแบ่งกลุ่มในสกุลนี้ ช่วยในการบอกความใกล้ชิดทางพันธุกรรมได้ชัดเจนขึ้น และบอกแนวโน้มในการผสมข้ามชนิด เพื่อประโยชน์ทางอนุกรมวิธานและเพื่อการค้าได้ดีขึ้น

ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งกลุ่มอย่างง่าย และจะกล่าวถึงกลุ่มที่มีในประเทศไทยเท่านั้น ดังนี้ subgenus Anthecibium, section Calista ได้แก่กลุ่มเอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องม่อนไข่ มักมีดอกเป็นช่อห้อยลง หรือเป็นช่อสั้นก็ได้ เช่นเอื้องชะนี ส่วนใหญ่ดอกมักมีสีเหลือง subgenus Dendrobium, section Dendrobium มีดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามข้อ เช่น Dendrobium parishii Rchb. f. (ท. เอื้องสายครั่ง) ซึ่งชื่อไทยบ่งกลุ่มได้ชัดเจน ได้แก่กลุ่มเอื้องสายต่างๆ section Formosae ลำมีขนละเอียดสีดำ ดอกมักมีสีขาว หรือสีอ่อน เช่น Dendrobium formosum Roxb. ex Lindl. (ท. เอื้องเงินหลวง), Dendrobium scabrilinge Lindl. (เอื้องแซะหอม) ซึ่งในชื่อไทยจะจัดกลุ่มได้ชัดเจนอยู่แล้ว คือ กลุ่มเอื้องเงินและเอื้องแซะชนิดต่างๆ section Pedilonum ลำยาว ดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น Dendrobium secundum (Blume) Lindl. (ท. เอื้องแปรงสีฟัน) subgenus Rhopalobium, section Rhopalanthe ลำพองออกที่ส่วนโคนและเรียวยาวตอนปลายคล้ายแส้ ดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ขนาดเล็ก ออกตามข้อ เช่น Dendrobium crumenatum Sw. (ท. หวายตะมอย) และยังมีกลุ่มที่มีจำนวนชนิดไม่กี่ชนิด หรือไม่มีความสำคัญในทางการค้า จึงไม่ค่อยมีการกล่าวถึง หรือไม่ก็นำไปจัดรวมกับกลุ่มหลักๆ ข้างต้น แต่ในอนาคต กล้วยไม้บางชนิดที่ถูกละเลยไป อาจมีความสำคัญขึ้นก็ได้ หากมีลักษณะเด่นบางอย่าง ที่นำมาใช้ในการปรับปรุงลักษณะเพื่อการค้าได้

กล้วยไม้เผ่าย่อยหวาย (Dendrobium) มีการกระจายทั่วไปทั่วทั้งทวีปอาเซีย อย่างไรก็ตาม แต่ละชนิดมักมีการกระจายกว้างหรือแคบแล้วแต่พันธุ์ สภาพอากาศที่กล้วยไม้แต่ละชนิดชอบก็แตกต่างกัน เช่น กล้วยไม้ในกลุ่มเอื้องสาย พบกระจายตามป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ว หรือป่าเบญจพรรณในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่สูง จึงไม่ค่อยพบทางภาคใต้ แต่ Dendrobium crumenatum Sw. (ท. หวายตะมอย) ชอบป่าไม่ผลัดใบ ตามที่ร่มแสงแดดรำไร ระดับน้ำทะเลถึงไม่เกิน 800 เมตร

วันศุกร์, มีนาคม ๐๒, ๒๕๕๐

กล้วยไม้เผ่าย่อยเอื้องเทียน


Coelogyne nitida (Wall. mss.) Lindl. (ท. เอื้องเทียนขาว, สกาวจันทร์) ดอกสีขาว กลีบเรียว ปากมีลวดลายสีเหลืองขอบน้ำตาลสวยงาม ทนแดดจัดถึงปานกลางได้ดี ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยเอื้องเทียน (subtribe Coelogyinea) ในประเทศไทยพบอยู่ 7 สกุล มีลักษณะต้นเป็นหัวเทียม (pseudobulb) มีตั้งแต่สั้นป้อมไปจนถึงยาว มีใบเดียวหรือหลายใบ บางชนิดทิ้งใบก่อนออกดอก บางชนิดก็ไม่ทิ้งใบเลย กล้วยไม้กลุ่มย่อยนี้มักออกดอกเป็นช่อ มีตั้งแต่สามถึงประมาณห้าหกดอก เช่นกล้วยไม้ในสกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) ไปจนถึงเป็นช่อยาวมาก เช่นกล้วยไม้บางชนิดในสกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota) ดอกมักมีสีขาวหรือสีอ่อน เช่นเหลือง น้ำตาล หรือเขียวอ่อน กลีบดอกมักเรียวยาว กลีบปากมีขนาดใหญ่ ห่อเป็นกรวย ปลายบาน เส้าเกสรไม่มีคาง ใบค่อนข้างยาว มีรอยพับกลางหรือพับจีบ ใบอ่อนพับห่อหรือพับเป็นจีบหลายทบ แล้วคลี่ออกเมื่อแก่ ลักษณะลำต้นของแต่ละสกุล มีความแตกต่างกันพอสมควร จนพอจะแยกออกจากกันได้ ซึ่งต่างจากกล้วยไม้ในกลุ่มสิงโต ที่มักแยกสกุลจากลักษณะลำต้นได้ยากมาก

สกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) เป็นต้นแบบของเผ่าย่อยนี้ หัวมีผิวมัน ใบมัน ดอกผิวมันเช่นกัน จึงถูกเรียกว่าเอื้องเทียน หรือเอื้องมัน ดอกค่อนข้างมีขนาดใหญ่ ช่อดอกออกจากโคนต้น มีสามถึงห้าดอก ใบประดับเป็นกาบมีขนาดยาวพอๆ กับความยาวของกลีบดอก มักมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่ปากมักมีแต้มสีสดใสลวดลายต่างๆ กันตามชนิด สกุลนี้มักเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ขึ้นตามโขดหินหรือต้นไม้ ชอบแสงแดดจัดถึงแสงปานกลาง แต่แสงรำไรก็อยู่ได้ ส่วนสกุล Neogyne มีลักษณะคล้ายสกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) มาก แต่กลีบปากมีขอบพับโค้ง รอบเส้าเกสรและโคนกลีบเลี้ยงทั้งสามกลีบเป็นถุงตื้นๆ ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ Neogyne gardneriana (Lindl.) Rchb.f.

สกุลกระดิ่งภูหรือเอื้องพลาย (Pleione) มักขึ้นตามที่ชื้นมากๆ เช่นในกลุ่มมอสหรือบางทีขึ้นตามพื้นดิน ทิ้งใบก่อนออกดอก หัวมีลักษณะยุบลงตอนบน ทำให้เป็นสัน หัวจึงดูเหมือนถังป้อมๆ เมื่อแตกหัวใหม่หัวเก่ามักเหี่ยวยุบไป ทำให้เห็นว่าขึ้นเป็นกลุ่ม แต่ไม่เห็นเป็นกอขนาดใหญ่ ใบพับเป็นจีบเล็กๆ ตามยาว ดอกมีขนาดใหญ่ และเมื่อออกดอกโดยไม่มีใบจึงดูเด่นสวยงาม ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดคือ Pleione maculata (Lindl.) Lindl. (ท. พลายงาม) และ Pleione praecox (Sm.) D.Don. (ท. พลายชมพู) ซึ่งดอกมีสีชมพูสวยงามมาก

สกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota) ลำลูกกล้วยค่อนข้างยาว มีใบเป็นแผ่นบางจำนวน 1 ถึง 3 ใบต่อลำ ใบพับกลางหรือพับจีบ ออกดอกที่โคนลำหรือซอกใบ เป็นช่อห้อยยาว บางชนิดห้อยย้อยยาวกว่าลำต้น ใบประดับคล้ายกาบขนาดใกล้เคียงกับดอก ดอกมีจำนวนค่อนข้างมากชิดแน่น มักมีสีขาว สีนวล หรือสีน้ำตาลอ่อน กลีบปากมีแนวคอดช่วงกลาง ช่วงโคนเป็นกระพุ้งคล้ายเรือ มีสันหรือปุ่มเนื้อเยื่อเรียงตามยาว

สกุลเอื้องรงรอง (Panisia) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย มีหัวขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกระจุกค่อนข้างแน่น อวบน้ำและผิวย่นในฤดูแล้ง ใบมี 2 ใบ ค่อนข้างบอบบาง ดอกเกิดจากส่วนเหง้าใกล้หัวเทียม กลีบบอบบาง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคู่ข้างคล้ายกัน กลีบปากเป็นแผ่น ปลายมน

สกุลสร้อยระย้า (Otochilus) พบในประเทศไทยเพียง 3 ชนิด ลักษณะลำต้นเป็นปล้องป่องคล้ายไส้กรอก เกิดสลับกับข้อที่ซ้อนถี่ต่อเรียงกับเป็นแถว ปล้องใหม่เกิดด้านข้างของยอดซึ่งมีใบ 2 ใบ รากเกิดตามข้อ ช่อดอกเกิดที่ปลายของปล้องใหม่ เป็นพวงห้อยลง ดอกขนาดเล็กเรียงสลับซ้ายขวา ดอกบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ

สกุล Dendrochilum พบเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Dendrochilum pallidiflavens Bl.

กล้วยไม้ในสกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) และสกุลเอื้องพลายหรือกระดิ่งภู (Pleione) มีดอกสวยงามน่าปลูกเลี้ยงมาก แต่ค่อนข้างหาได้ยาก และผู้เลี้ยงต้องเข้าใจสภาพอากาศที่เหมาะสมกับกล้วยไม้เหล่านี้ด้วย

กล้วยไม้เผ่าย่อยเอื้องเทียน ค่อนข้างชอบที่โล่งแจ้งแสงแดดจัด แต่ก็สามารถอยู่ได้ในที่ร่ม ส่วนใหญ่ชอบสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นในหน้าหนาว และทนแล้งในหน้าร้อน และการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้เผ่าย่อยนี้ พบในแถบเทือกเขาหิมาลัย จนถึงประเทศพม่า ไทย ลาว เวียตนาม ไม่เลยลงไปทางภาคใต้และมาเลเซีย ยกเว้นกล้วยไม้ในสกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota) บางชนิด

กล้วยไม้เผ่าย่อยสิงโต


Bulbophyllum lasiochilum Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตนักกล้าม) บางสายพันธุ์ย่อยในบางพื้นที่ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ หัวและใบมีขนาดกระทัดรัด นับเป็นกล้วยไม้ที่น่าเลี้ยงมากชนิดหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยสิงโต หรือสิงโตกลอกตา (subtribe Bulbophyllinae) ในประเทศไทยมีด้วยกัน 7-9 สกุล ที่ว่า 7-9 เนื่องจากการแบ่งสกุลอาจมีซ้ำซ้อนกันบ้างแล้วแต่ผู้แบ่ง

เผ่าย่อยสิงโตนี้อยู่ใน subfamily Epidendroideae ซึ่งมีหลายกลุ่มย่อยและหลายสกุลมาก ต้นแบบของเผ่าย่อยสิงโตก็ได้แก่สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยตามต้นไม้ มีบางชนิดขึ้นบนโขดหินหรือตามหน้าผาได้ บางชนิดหากชอบชื้นมากๆ ก็อาจขึ้นตามพื้นบนมอสหนาๆ ก็ได้

ส่วนใหญ่มีลักษณะลำต้นเป็นหัวเทียม (pseudobulb) ซึ่งมีทั้งที่เป็นลำลูกกล้วยยาวหรือเป็นหัวกลมๆ และบางชนิดอาจลดรูปจนคล้ายก้านใบก็มี ส่วนใหญ่มักมีใบเดียว แต่บางชนิดอาจมีสองใบ ใบยาวเรียวมีรอยพับกลางตามยาว บางชนิดทิ้งใบในหน้าแล้งก่อนออกดอก บางชนิดก็ไม่ทิ้งใบ บางชนิดขึ้นติดกันเป็นกระจุก บางชนิดก็มีไหลยาว ทำให้หัวเทียมอยู่ห่างกันมากก็มี

ดอกออกจากโคนหัว มีทั้งที่เป็นดอกเดี่ยว เป็นช่อมีดอกเป็นกระจุกที่ปลาย หรือเป็นช่อกระจะ (receme) มีดอกเล็กๆ เรียงกันตามยาวก็มี ชนิดที่มีดอกเดี่ยวมักมีดอกขนาดใหญ่ ขณะที่ดอกเป็นช่อมักมีดอกขนาดเล็ก ส่วนมากไม่มีกลิ่น แต่บางชนิดก็มีกลิ่นหอมแรง เช่น Bulbophyllum sukhakulii Seidenf. (ท. สิงโตสุขะกุล) บางชนิดมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เช่น Bulbophyllum lasciochilum Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตนักกล้าม) หรือไม่มีกลิ่นเลย เช่น Bulbophyllum monanthum (Kzm.) J. J. Sm. (ท. สิงโตนางรำ) หรือแย่กว่านั้นคือมีกลิ่นเหม็นเหมือนซากสัตว์ก็มี เช่น Bulbophyllum echinolabium สำหรับสกุลอื่นนอกจากสกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) แล้วมักไม่มีกลิ่น

ลักษณะเด่นของกล้วยไม้ในกลุ่มย่อยนี้ที่ใช้แยกจากกล้วยไม้ในกลุ่มย่อยอื่น คือกลีบปากติดกับปลายคางเส้าเกสร มีลักษณะเป็นบานพับกระดก ใช้ล่อแมลงที่มาเกาะให้หัวคะมำลงไปภายในช่องปากเพื่อผสมเกสรได้

การแยกสกุลของกล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้มักดูจากลักษณะกลีบเลี้ยง สกุลสิงโตพัด (Cirrhopetalum) มีกลีบเลี้ยงคู่ข้างบิดม้วนพับเข้าใน จนผิวด้านหลังกลับมาอยู่ด้านหน้า ขอบด้านนอกของกลีบที่ม้วนกลับนั้นมักติดกัน ทำให้กลีบเลี้ยงคู่ล่างทั้งสองเชื่อมกันเป็นแผ่นใหญ่ ก้านช่อมักยาว ดอกออกปลายช่อ หลายชนิดมีหลายดอกเรียงกันเป็นรูปพัด คือเป็นช่อซี่ร่ม (umbel) และมีคางยื่นยาว สกุลสิงโตเหยี่ยว (Mastigion) มักมีดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยงคู่ข้างยาวมาก และขอบเชื่อมติดกันเป็นหลอดโดยกลีบม้วนพับ และมักติดกันไปจนเกือบตลอดความยาว แต่แยกกันตอนปลายกลีบ และมีคางยาว กลีบเลี้ยงบน และกลีบดอกคู่ข้างมีขนเป็นพู่ สกุลสิงโตถุง (Rhytionanthos) กลีบเลี้ยงคู่ล่างพับห่อตามแนวยาว และมาประสานติดกันเป็นหลอดหรือถุง ส่วนสกุลเพชรพระอินทร์ (Trias) นั้นกลีบเลี้ยงทั้งสามกลีบ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมชัดเจน คางสั้นมากหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีคาง นอกจากนี้สกุลทับทิมสยาม (Drymoda) ไม่มีกลีบเลี้ยงที่โดดเด่น แต่มีคางที่เกิดจากส่วนโคนของเส้าเกสรยื่นยาวชัดเจน กลีบปากติดกับปลายคาง สกุล Monomeria คล้าย Drymoda ขณะที่สกุล Epicrianthes มีลักษณะแปลกที่กลีบดอกเป็นพู่ กลีบปากอยู่ด้า่นล่าง โคนกลีบมีตุ่มหูด ทำให้ดูเหมือนดอกมีเพียงสามกลีบคือกลีบเลี้ยงทั้งสาม ที่มีลักษณะเหมือนกันเท่านั้น ส่วนสกุลเอื้องฟันปลา (Sunipia) ดอกเป็นช่อกระจะ เรียงสลับฟันปลา ดอกเล็ก และสกุลเอื้องทับทิม (Ione) คล้ายสกุลเอื้องฟันปลา แต่กลีบเลี้ยงคู่ข้างมักเชื่อมติดกันเป็นบางส่วน โดยไม่ม้วนพับกลับเหมือนสกุลสิงโตพัด (Cirrhopetalum) ส่วนสกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) มีทั้่งที่มีดอกเดี่ยวและเป็นช่อ ส่วนใหญ่กลีบเลี้ยงคู่ข้างมักกางผายออก หรือบิดม้วนพับแต่ไม่เชื่อมติดกัน บางชนิดกลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมติดกันโดยไม่บิดม้วนพับ แต่ก็ดูเหมือนว่าเมื่อจัดเข้าสกุลจำเพาะในกลุ่มนี้ไม่ได้ ก็จะจัดลงสกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) ด้วย ทำให้สกุลนี้เป็นเหมือนถังขยะ นั่นคือมีลักษณะข้างต้นบางอย่างที่เป็นลักษณะของสกุลอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่ก้ำกึ่งหรือมีลักษณะผสมกันของสองสามสกุล เช่น Bulbophyllum longissimum (Ridl.) Ridl. ซึ่งในครั้งแรกก็ถูกจัดให้อยู่ในสกุล Cirrhopetallum แต่ภายหลังกลับเปลี่ยนไปเป็นสกุล Bulbophyllum เนื่องจากลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ล่างแม้จะเชื่อมติดกัน แต่การเชื่อมติดกันกลับคล้ายสกุล Mastigion มากกว่า ขณะที่ขาดลักษณะอื่นๆ ของ Mastigion แท้ๆ

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้มีลำต้นไม่ใหญ่เก้งก้าง จึงเหมาะที่จะเลี้ยงในพื้นที่จำกัด เลี้ยงง่าย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีขนาดดอกเล็ก จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้เลี้ยงทั่วไป แต่จะมีกลุ่มผู้นิยมกล้วยไม้ในเผ่าย่อยสิงโตเป็นพิเศษ ที่มักจะเสาะแสวงหาพันธุ์แปลกๆ มาสะสม

การกระจายพันธุ์พบทั่วทั้งประเทศไทย บางชนิดพบจำเพาะในบางภาคหรือบางพื้นที่ แต่พบตามแนวเทือกเขาทางตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ รวมไปถึงประเทศพม่า และเลยไปถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีหลายชนิดมากกว่าในภาคอื่นๆ ข้อพึงระวังในการเลี้ยงกล้วยไม้จากทางภาคใต้หรือมาเลเซีย อินโดนีเซีย คือ สภาพธรรมชาติมักขึ้นในป่าดิบชื้น แสงแดดปานกลางถึงร่มรำไร การปลูกจึงต้องเลี้ยงในพื้นที่ค่อนข้างร่มและชื้น ส่วนชนิดที่พบทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักพบขึ้นในป่าผลัดใบ มักจะทนร้อนและอากาศแห้งได้ดีกว่า

และนอกจากนี้ กล้วยไม้ชนิด Bulbophyllum moniliforme Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตไข่ปลา, เอื้องไข่ปลา, เอื้องหัวเข็มหมุด) ยังเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และมีถิ่นที่พบในประเทศไทยด้วย


Bulbophyllum moniliforme Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตไข่ปลา, เอื้องไข่ปลา, เอื้องหัวเข็มหมุด) กล้วยไม้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก

กล้วยไม้ในกลุ่มย่อยนี้มักผสมข้ามสกุลกันเองในเผ่าย่อยนี้ได้ ทำให้สามารถเลือกลักษณะเด่นต่างๆ จากแต่ละสกุลหรือชนิดมาผสมกับชนิดอื่นๆ ได้ดอกที่มีลักษณะตามต้องการได้