คำว่า กล้วยไม้ ในภาษาไทย น่าจะมาจากสภาพที่ปรากฏของกล้วยไม้บางชนิด ในวงศ์ย่อย Epidendroideae บางชนิดในสกุล Dendrobium หรือสกุล Bulbophyllum ที่ขึ้นเป็นกอแน่น แล้วในหน้าแล้งทิ้งใบจนหมด เห็นแต่ลำลูกกล้วยหรือหัวเทียมที่มีลักษณะป้อมสั้น ดูแล้วเหมือนหวีกล้วย ติดอยู่ตามต้นไม้ ก็เลยเรียกเป็นกล้วยไม้
Dendrobium venustum Teijsm. & Binnend. (ท. ข้าวเหนียวลิง, เอื้องดอกมะขาม) ต้นหรือลำลูกกล้วยเหมือนลูกกล้วยเกาะเป็นกระจุกบนต้นไม้ เป็นที่มาของคำว่ากล้วยไม้
คำนี้ก็นำมาใช้ได้กับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้มีลักษณะลำต้นแบบนั้นด้วย โดยดูที่ดอกและการเกาะตามต้นไม้แบบเดียวกัน เช่น กล้วยไม้ในวงศ์ย่อย Vandoideae เช่นพวกสามปอยหรือฟ้ามุ่ย
การขยายความหมายเช่นนี้คงเกิดขึ้นทีหลัง เพราะแต่เดิมจริงๆ ในภาษาไทยน่าจะไม่ได้เรียกกล้วยไม้ ในลักษณะเป็นกลุ่มของพันธุ์ไม้อย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน แต่เรียกเป็นเอื้อง เช่น เอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องสาย หรือเรียกชื่อต้นไม้ชนิดนั้นๆ ตรงๆ เสียมากกว่า การเรียกรวมกลุ่มเช่นนี้น่าจะมาจากแนวคิดฝรั่งจากคำว่า orchid เมื่อฝรั่งหันมานิยมเลี้ยงและสะสมกล้วยไม้ ซึ่งตอนนั้นแนวคิดด้านอนุกรมวิธานหรือ taxonomy ได้เกิดขึ้นแล้ว คือมีการเรียกต้นไม้กลุ่มนี้ว่า orchid แล้วคนไทยก็มานิยมเลี้ยงตาม ก็เลยแปลมาเป็นคำว่า กล้วยไม้ เพราะหากแปล orchid ตามความหมายภาษาอังกฤษคงจะพิลึก เพราะมันแปลว่า ไข่ หรือ อัณฑะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น