วันศุกร์, มีนาคม ๐๒, ๒๕๕๐

กล้วยไม้เผ่าย่อยเอื้องเทียน


Coelogyne nitida (Wall. mss.) Lindl. (ท. เอื้องเทียนขาว, สกาวจันทร์) ดอกสีขาว กลีบเรียว ปากมีลวดลายสีเหลืองขอบน้ำตาลสวยงาม ทนแดดจัดถึงปานกลางได้ดี ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยเอื้องเทียน (subtribe Coelogyinea) ในประเทศไทยพบอยู่ 7 สกุล มีลักษณะต้นเป็นหัวเทียม (pseudobulb) มีตั้งแต่สั้นป้อมไปจนถึงยาว มีใบเดียวหรือหลายใบ บางชนิดทิ้งใบก่อนออกดอก บางชนิดก็ไม่ทิ้งใบเลย กล้วยไม้กลุ่มย่อยนี้มักออกดอกเป็นช่อ มีตั้งแต่สามถึงประมาณห้าหกดอก เช่นกล้วยไม้ในสกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) ไปจนถึงเป็นช่อยาวมาก เช่นกล้วยไม้บางชนิดในสกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota) ดอกมักมีสีขาวหรือสีอ่อน เช่นเหลือง น้ำตาล หรือเขียวอ่อน กลีบดอกมักเรียวยาว กลีบปากมีขนาดใหญ่ ห่อเป็นกรวย ปลายบาน เส้าเกสรไม่มีคาง ใบค่อนข้างยาว มีรอยพับกลางหรือพับจีบ ใบอ่อนพับห่อหรือพับเป็นจีบหลายทบ แล้วคลี่ออกเมื่อแก่ ลักษณะลำต้นของแต่ละสกุล มีความแตกต่างกันพอสมควร จนพอจะแยกออกจากกันได้ ซึ่งต่างจากกล้วยไม้ในกลุ่มสิงโต ที่มักแยกสกุลจากลักษณะลำต้นได้ยากมาก

สกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) เป็นต้นแบบของเผ่าย่อยนี้ หัวมีผิวมัน ใบมัน ดอกผิวมันเช่นกัน จึงถูกเรียกว่าเอื้องเทียน หรือเอื้องมัน ดอกค่อนข้างมีขนาดใหญ่ ช่อดอกออกจากโคนต้น มีสามถึงห้าดอก ใบประดับเป็นกาบมีขนาดยาวพอๆ กับความยาวของกลีบดอก มักมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่ปากมักมีแต้มสีสดใสลวดลายต่างๆ กันตามชนิด สกุลนี้มักเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ขึ้นตามโขดหินหรือต้นไม้ ชอบแสงแดดจัดถึงแสงปานกลาง แต่แสงรำไรก็อยู่ได้ ส่วนสกุล Neogyne มีลักษณะคล้ายสกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) มาก แต่กลีบปากมีขอบพับโค้ง รอบเส้าเกสรและโคนกลีบเลี้ยงทั้งสามกลีบเป็นถุงตื้นๆ ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ Neogyne gardneriana (Lindl.) Rchb.f.

สกุลกระดิ่งภูหรือเอื้องพลาย (Pleione) มักขึ้นตามที่ชื้นมากๆ เช่นในกลุ่มมอสหรือบางทีขึ้นตามพื้นดิน ทิ้งใบก่อนออกดอก หัวมีลักษณะยุบลงตอนบน ทำให้เป็นสัน หัวจึงดูเหมือนถังป้อมๆ เมื่อแตกหัวใหม่หัวเก่ามักเหี่ยวยุบไป ทำให้เห็นว่าขึ้นเป็นกลุ่ม แต่ไม่เห็นเป็นกอขนาดใหญ่ ใบพับเป็นจีบเล็กๆ ตามยาว ดอกมีขนาดใหญ่ และเมื่อออกดอกโดยไม่มีใบจึงดูเด่นสวยงาม ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดคือ Pleione maculata (Lindl.) Lindl. (ท. พลายงาม) และ Pleione praecox (Sm.) D.Don. (ท. พลายชมพู) ซึ่งดอกมีสีชมพูสวยงามมาก

สกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota) ลำลูกกล้วยค่อนข้างยาว มีใบเป็นแผ่นบางจำนวน 1 ถึง 3 ใบต่อลำ ใบพับกลางหรือพับจีบ ออกดอกที่โคนลำหรือซอกใบ เป็นช่อห้อยยาว บางชนิดห้อยย้อยยาวกว่าลำต้น ใบประดับคล้ายกาบขนาดใกล้เคียงกับดอก ดอกมีจำนวนค่อนข้างมากชิดแน่น มักมีสีขาว สีนวล หรือสีน้ำตาลอ่อน กลีบปากมีแนวคอดช่วงกลาง ช่วงโคนเป็นกระพุ้งคล้ายเรือ มีสันหรือปุ่มเนื้อเยื่อเรียงตามยาว

สกุลเอื้องรงรอง (Panisia) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย มีหัวขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกระจุกค่อนข้างแน่น อวบน้ำและผิวย่นในฤดูแล้ง ใบมี 2 ใบ ค่อนข้างบอบบาง ดอกเกิดจากส่วนเหง้าใกล้หัวเทียม กลีบบอบบาง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคู่ข้างคล้ายกัน กลีบปากเป็นแผ่น ปลายมน

สกุลสร้อยระย้า (Otochilus) พบในประเทศไทยเพียง 3 ชนิด ลักษณะลำต้นเป็นปล้องป่องคล้ายไส้กรอก เกิดสลับกับข้อที่ซ้อนถี่ต่อเรียงกับเป็นแถว ปล้องใหม่เกิดด้านข้างของยอดซึ่งมีใบ 2 ใบ รากเกิดตามข้อ ช่อดอกเกิดที่ปลายของปล้องใหม่ เป็นพวงห้อยลง ดอกขนาดเล็กเรียงสลับซ้ายขวา ดอกบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ

สกุล Dendrochilum พบเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Dendrochilum pallidiflavens Bl.

กล้วยไม้ในสกุลเอื้องเทียน (Coelogyne) และสกุลเอื้องพลายหรือกระดิ่งภู (Pleione) มีดอกสวยงามน่าปลูกเลี้ยงมาก แต่ค่อนข้างหาได้ยาก และผู้เลี้ยงต้องเข้าใจสภาพอากาศที่เหมาะสมกับกล้วยไม้เหล่านี้ด้วย

กล้วยไม้เผ่าย่อยเอื้องเทียน ค่อนข้างชอบที่โล่งแจ้งแสงแดดจัด แต่ก็สามารถอยู่ได้ในที่ร่ม ส่วนใหญ่ชอบสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นในหน้าหนาว และทนแล้งในหน้าร้อน และการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้เผ่าย่อยนี้ พบในแถบเทือกเขาหิมาลัย จนถึงประเทศพม่า ไทย ลาว เวียตนาม ไม่เลยลงไปทางภาคใต้และมาเลเซีย ยกเว้นกล้วยไม้ในสกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota) บางชนิด

ไม่มีความคิดเห็น: