วันจันทร์, มีนาคม ๐๕, ๒๕๕๐

กล้วยไม้เผ่าย่อยหวาย


Dendrobium williamsonii Day & Rchb.f. (ท. เอื้องเงินแสด) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายน้ำส้ม

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้ประกอบด้วยกล้วยไม้เพียงสามสกุลคือ สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลเอื้องกระเจี้ยง (Epigeneium) และสกุลเอื้องขาไก่ (Flickingeria) แต่จำนวนชนิดที่มีมากที่สุดอยู่ในสกุลหวาย (Dendrobium) สกุลเอื้องกระเจี้ยง (Epigeneium) พบในประเทศไทยเพียง 3 ชนิด และสกุลเอื้องขาไก่ (Flickingeria) พบในประเทศไทย 16 ชนิด

กล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ขึ้นเป็นกอ มีเหง้าหรือลำกลมผอมและแข็ง แม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นตัวแทนของเผ่าย่อยนี้ แต่ลักษณะลำต้นของแต่ละสกุลในเผ่าย่อยนี้ต่างกันมาก สกุลเอื้องกระเจี้ยง (Epigeneium) มีเหง้าผอมกลมทอดยาว สลับกับหัวรูปไข่หรือรี มีใบ 1-2 ใบ ดูคล้ายกล้วยไม้ในเผ่าย่อยเอื้องเทียน ส่วนสกุลเอื้องขาไก่ (Flickingeria) มีเหง้าค่อนข้างสั้น หัีวหรือลำแตกออกจากส่วนเหง้า ลักษณะค่อนข้างยาว มีใบเพียง 1 ใบที่ปลาย มักมีดอกเดี่ยวหรือสองสามดอกที่ปลาย ส่วนสกุลหวาย (Dendrobium) มีลำลูกกล้วยรีหรือยาว บางชนิดเช่น Dendrobium lindleyi Steud. (ท. เอื้องผึ้ง) มีใบเพียงใบเดียวต่อลำหรือนานๆ ทีจะเห็นสองใบต่อคำ แต่ส่วนใหญ่มีใบจำนวนมาก เนื่องจากมีลำยาว ลักษณะร่วมกันในเผ่าย่อยนี้่เห็นได้ที่ลักษณะดอก ที่เส้าเกสรมีคางชัดเจน โคนกลีบเลี้ยงคู่ข้างแผ่กว้างติดกับส่วนคาง กลีบปากอาจมีหูหุ้มเส้าเกสร หรือแผ่กว้างผายออกจากโคน โดยไม่มีส่วนหูที่ชัดเจน เผ่าย่อยนี้กลุ่มเรณูไม่มีก้านหรือแป้นก้านเรณู ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับอีกหลายสกุลในกลุ่มย่อย Epidendroideae

กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นสกุลใหญ่มาก และมีความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิดอย่างมาก จึงจำเป็นต้องแบ่งย่อยเป็นอีกหลายกลุ่ม (section) ในการแบ่งนั้นเองยังมีหลายแบบ แล้วแต่ผู้แบ่งและการศึกษาด้วยวิธีต่างๆ การแบ่งกลุ่มแต่เดิมใช้ลักษณะภายนอก เช่น ลำต้น ใบ ดอก เป็นหลัก ซึ่งก็ใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หลังๆ นี้มีแนวโน้มจะใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและ DNA มาประกอบด้วย เนื่องจากในบางกลุ่มยังพบว่า แม้การผสมข้ามชนิดภายในกลุ่มก็ยังเป็นไปได้ยาก นั่นคือมมีความแตกต่างภายในกลุ่มมากเกินไป ทำให้คิดว่าน่าจะต้องแบ่งย่อยออกไปอีก เพื่อให้การแบ่งกลุ่มในสกุลนี้ ช่วยในการบอกความใกล้ชิดทางพันธุกรรมได้ชัดเจนขึ้น และบอกแนวโน้มในการผสมข้ามชนิด เพื่อประโยชน์ทางอนุกรมวิธานและเพื่อการค้าได้ดีขึ้น

ในที่นี้จะกล่าวถึงการแบ่งกลุ่มอย่างง่าย และจะกล่าวถึงกลุ่มที่มีในประเทศไทยเท่านั้น ดังนี้ subgenus Anthecibium, section Calista ได้แก่กลุ่มเอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องม่อนไข่ มักมีดอกเป็นช่อห้อยลง หรือเป็นช่อสั้นก็ได้ เช่นเอื้องชะนี ส่วนใหญ่ดอกมักมีสีเหลือง subgenus Dendrobium, section Dendrobium มีดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามข้อ เช่น Dendrobium parishii Rchb. f. (ท. เอื้องสายครั่ง) ซึ่งชื่อไทยบ่งกลุ่มได้ชัดเจน ได้แก่กลุ่มเอื้องสายต่างๆ section Formosae ลำมีขนละเอียดสีดำ ดอกมักมีสีขาว หรือสีอ่อน เช่น Dendrobium formosum Roxb. ex Lindl. (ท. เอื้องเงินหลวง), Dendrobium scabrilinge Lindl. (เอื้องแซะหอม) ซึ่งในชื่อไทยจะจัดกลุ่มได้ชัดเจนอยู่แล้ว คือ กลุ่มเอื้องเงินและเอื้องแซะชนิดต่างๆ section Pedilonum ลำยาว ดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น Dendrobium secundum (Blume) Lindl. (ท. เอื้องแปรงสีฟัน) subgenus Rhopalobium, section Rhopalanthe ลำพองออกที่ส่วนโคนและเรียวยาวตอนปลายคล้ายแส้ ดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ขนาดเล็ก ออกตามข้อ เช่น Dendrobium crumenatum Sw. (ท. หวายตะมอย) และยังมีกลุ่มที่มีจำนวนชนิดไม่กี่ชนิด หรือไม่มีความสำคัญในทางการค้า จึงไม่ค่อยมีการกล่าวถึง หรือไม่ก็นำไปจัดรวมกับกลุ่มหลักๆ ข้างต้น แต่ในอนาคต กล้วยไม้บางชนิดที่ถูกละเลยไป อาจมีความสำคัญขึ้นก็ได้ หากมีลักษณะเด่นบางอย่าง ที่นำมาใช้ในการปรับปรุงลักษณะเพื่อการค้าได้

กล้วยไม้เผ่าย่อยหวาย (Dendrobium) มีการกระจายทั่วไปทั่วทั้งทวีปอาเซีย อย่างไรก็ตาม แต่ละชนิดมักมีการกระจายกว้างหรือแคบแล้วแต่พันธุ์ สภาพอากาศที่กล้วยไม้แต่ละชนิดชอบก็แตกต่างกัน เช่น กล้วยไม้ในกลุ่มเอื้องสาย พบกระจายตามป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ว หรือป่าเบญจพรรณในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่สูง จึงไม่ค่อยพบทางภาคใต้ แต่ Dendrobium crumenatum Sw. (ท. หวายตะมอย) ชอบป่าไม่ผลัดใบ ตามที่ร่มแสงแดดรำไร ระดับน้ำทะเลถึงไม่เกิน 800 เมตร

ไม่มีความคิดเห็น: