วันศุกร์, มีนาคม ๐๒, ๒๕๕๐
กล้วยไม้เผ่าย่อยสิงโต
Bulbophyllum lasiochilum Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตนักกล้าม) บางสายพันธุ์ย่อยในบางพื้นที่ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ หัวและใบมีขนาดกระทัดรัด นับเป็นกล้วยไม้ที่น่าเลี้ยงมากชนิดหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม
กล้วยไม้ในเผ่าย่อยสิงโต หรือสิงโตกลอกตา (subtribe Bulbophyllinae) ในประเทศไทยมีด้วยกัน 7-9 สกุล ที่ว่า 7-9 เนื่องจากการแบ่งสกุลอาจมีซ้ำซ้อนกันบ้างแล้วแต่ผู้แบ่ง
เผ่าย่อยสิงโตนี้อยู่ใน subfamily Epidendroideae ซึ่งมีหลายกลุ่มย่อยและหลายสกุลมาก ต้นแบบของเผ่าย่อยสิงโตก็ได้แก่สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยตามต้นไม้ มีบางชนิดขึ้นบนโขดหินหรือตามหน้าผาได้ บางชนิดหากชอบชื้นมากๆ ก็อาจขึ้นตามพื้นบนมอสหนาๆ ก็ได้
ส่วนใหญ่มีลักษณะลำต้นเป็นหัวเทียม (pseudobulb) ซึ่งมีทั้งที่เป็นลำลูกกล้วยยาวหรือเป็นหัวกลมๆ และบางชนิดอาจลดรูปจนคล้ายก้านใบก็มี ส่วนใหญ่มักมีใบเดียว แต่บางชนิดอาจมีสองใบ ใบยาวเรียวมีรอยพับกลางตามยาว บางชนิดทิ้งใบในหน้าแล้งก่อนออกดอก บางชนิดก็ไม่ทิ้งใบ บางชนิดขึ้นติดกันเป็นกระจุก บางชนิดก็มีไหลยาว ทำให้หัวเทียมอยู่ห่างกันมากก็มี
ดอกออกจากโคนหัว มีทั้งที่เป็นดอกเดี่ยว เป็นช่อมีดอกเป็นกระจุกที่ปลาย หรือเป็นช่อกระจะ (receme) มีดอกเล็กๆ เรียงกันตามยาวก็มี ชนิดที่มีดอกเดี่ยวมักมีดอกขนาดใหญ่ ขณะที่ดอกเป็นช่อมักมีดอกขนาดเล็ก ส่วนมากไม่มีกลิ่น แต่บางชนิดก็มีกลิ่นหอมแรง เช่น Bulbophyllum sukhakulii Seidenf. (ท. สิงโตสุขะกุล) บางชนิดมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เช่น Bulbophyllum lasciochilum Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตนักกล้าม) หรือไม่มีกลิ่นเลย เช่น Bulbophyllum monanthum (Kzm.) J. J. Sm. (ท. สิงโตนางรำ) หรือแย่กว่านั้นคือมีกลิ่นเหม็นเหมือนซากสัตว์ก็มี เช่น Bulbophyllum echinolabium สำหรับสกุลอื่นนอกจากสกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) แล้วมักไม่มีกลิ่น
ลักษณะเด่นของกล้วยไม้ในกลุ่มย่อยนี้ที่ใช้แยกจากกล้วยไม้ในกลุ่มย่อยอื่น คือกลีบปากติดกับปลายคางเส้าเกสร มีลักษณะเป็นบานพับกระดก ใช้ล่อแมลงที่มาเกาะให้หัวคะมำลงไปภายในช่องปากเพื่อผสมเกสรได้
การแยกสกุลของกล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้มักดูจากลักษณะกลีบเลี้ยง สกุลสิงโตพัด (Cirrhopetalum) มีกลีบเลี้ยงคู่ข้างบิดม้วนพับเข้าใน จนผิวด้านหลังกลับมาอยู่ด้านหน้า ขอบด้านนอกของกลีบที่ม้วนกลับนั้นมักติดกัน ทำให้กลีบเลี้ยงคู่ล่างทั้งสองเชื่อมกันเป็นแผ่นใหญ่ ก้านช่อมักยาว ดอกออกปลายช่อ หลายชนิดมีหลายดอกเรียงกันเป็นรูปพัด คือเป็นช่อซี่ร่ม (umbel) และมีคางยื่นยาว สกุลสิงโตเหยี่ยว (Mastigion) มักมีดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยงคู่ข้างยาวมาก และขอบเชื่อมติดกันเป็นหลอดโดยกลีบม้วนพับ และมักติดกันไปจนเกือบตลอดความยาว แต่แยกกันตอนปลายกลีบ และมีคางยาว กลีบเลี้ยงบน และกลีบดอกคู่ข้างมีขนเป็นพู่ สกุลสิงโตถุง (Rhytionanthos) กลีบเลี้ยงคู่ล่างพับห่อตามแนวยาว และมาประสานติดกันเป็นหลอดหรือถุง ส่วนสกุลเพชรพระอินทร์ (Trias) นั้นกลีบเลี้ยงทั้งสามกลีบ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมชัดเจน คางสั้นมากหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีคาง นอกจากนี้สกุลทับทิมสยาม (Drymoda) ไม่มีกลีบเลี้ยงที่โดดเด่น แต่มีคางที่เกิดจากส่วนโคนของเส้าเกสรยื่นยาวชัดเจน กลีบปากติดกับปลายคาง สกุล Monomeria คล้าย Drymoda ขณะที่สกุล Epicrianthes มีลักษณะแปลกที่กลีบดอกเป็นพู่ กลีบปากอยู่ด้า่นล่าง โคนกลีบมีตุ่มหูด ทำให้ดูเหมือนดอกมีเพียงสามกลีบคือกลีบเลี้ยงทั้งสาม ที่มีลักษณะเหมือนกันเท่านั้น ส่วนสกุลเอื้องฟันปลา (Sunipia) ดอกเป็นช่อกระจะ เรียงสลับฟันปลา ดอกเล็ก และสกุลเอื้องทับทิม (Ione) คล้ายสกุลเอื้องฟันปลา แต่กลีบเลี้ยงคู่ข้างมักเชื่อมติดกันเป็นบางส่วน โดยไม่ม้วนพับกลับเหมือนสกุลสิงโตพัด (Cirrhopetalum) ส่วนสกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) มีทั้่งที่มีดอกเดี่ยวและเป็นช่อ ส่วนใหญ่กลีบเลี้ยงคู่ข้างมักกางผายออก หรือบิดม้วนพับแต่ไม่เชื่อมติดกัน บางชนิดกลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมติดกันโดยไม่บิดม้วนพับ แต่ก็ดูเหมือนว่าเมื่อจัดเข้าสกุลจำเพาะในกลุ่มนี้ไม่ได้ ก็จะจัดลงสกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) ด้วย ทำให้สกุลนี้เป็นเหมือนถังขยะ นั่นคือมีลักษณะข้างต้นบางอย่างที่เป็นลักษณะของสกุลอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่ก้ำกึ่งหรือมีลักษณะผสมกันของสองสามสกุล เช่น Bulbophyllum longissimum (Ridl.) Ridl. ซึ่งในครั้งแรกก็ถูกจัดให้อยู่ในสกุล Cirrhopetallum แต่ภายหลังกลับเปลี่ยนไปเป็นสกุล Bulbophyllum เนื่องจากลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ล่างแม้จะเชื่อมติดกัน แต่การเชื่อมติดกันกลับคล้ายสกุล Mastigion มากกว่า ขณะที่ขาดลักษณะอื่นๆ ของ Mastigion แท้ๆ
กล้วยไม้ในเผ่าย่อยนี้มีลำต้นไม่ใหญ่เก้งก้าง จึงเหมาะที่จะเลี้ยงในพื้นที่จำกัด เลี้ยงง่าย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีขนาดดอกเล็ก จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้เลี้ยงทั่วไป แต่จะมีกลุ่มผู้นิยมกล้วยไม้ในเผ่าย่อยสิงโตเป็นพิเศษ ที่มักจะเสาะแสวงหาพันธุ์แปลกๆ มาสะสม
การกระจายพันธุ์พบทั่วทั้งประเทศไทย บางชนิดพบจำเพาะในบางภาคหรือบางพื้นที่ แต่พบตามแนวเทือกเขาทางตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ รวมไปถึงประเทศพม่า และเลยไปถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีหลายชนิดมากกว่าในภาคอื่นๆ ข้อพึงระวังในการเลี้ยงกล้วยไม้จากทางภาคใต้หรือมาเลเซีย อินโดนีเซีย คือ สภาพธรรมชาติมักขึ้นในป่าดิบชื้น แสงแดดปานกลางถึงร่มรำไร การปลูกจึงต้องเลี้ยงในพื้นที่ค่อนข้างร่มและชื้น ส่วนชนิดที่พบทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักพบขึ้นในป่าผลัดใบ มักจะทนร้อนและอากาศแห้งได้ดีกว่า
และนอกจากนี้ กล้วยไม้ชนิด Bulbophyllum moniliforme Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตไข่ปลา, เอื้องไข่ปลา, เอื้องหัวเข็มหมุด) ยังเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และมีถิ่นที่พบในประเทศไทยด้วย
Bulbophyllum moniliforme Par. & Rchb. f. (ท. สิงโตไข่ปลา, เอื้องไข่ปลา, เอื้องหัวเข็มหมุด) กล้วยไม้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
กล้วยไม้ในกลุ่มย่อยนี้มักผสมข้ามสกุลกันเองในเผ่าย่อยนี้ได้ ทำให้สามารถเลือกลักษณะเด่นต่างๆ จากแต่ละสกุลหรือชนิดมาผสมกับชนิดอื่นๆ ได้ดอกที่มีลักษณะตามต้องการได้
ป้ายกำกับ:
Bulbophyllinae,
Bulbophyllum,
Cirrhopetalum,
Drymoda,
Epicrianthes,
Ione,
Mastigion,
Monomeria,
Rhytionanthos,
Sunipia,
Trias
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น